ประวัติ วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์
ยกนิ้วให้! "กัปตันกิ๊ฟ" พาลูกทีม คว่ำ ญี่ปุ่น ฉลองแชมป์เอเชีย สมัยที่ 2
วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ กัปตันทีมวอลเล่ย์บอลหญิงทีมชาติไทย พาลูกทีมสร้างประวัติศาสตร์ คว้าแชมป์เอเชียเป็นสมัยที่ 2 อย่างยิ่งใหญ่ ด้วยการเอาชนะทีมชาติญี่ปุ่นไปได้ หลังจากที่เคยคว้าแชมป์สมัยแรกได้เมื่อปี 2009
การแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์แห่งเอเชีย 2013 ครั้งที่ 17 รอบชิงชนะเลิศ ที่สนามชาติชายฮอลล์ สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จ.นครราชสีมา เป็นการพบกันระหว่าง ทีมชาติไทย เจ้าภาพ อันดับ 16 ของโลก กับ ทีมชาติญี่ปุ่น อันดับ 3 ของโลก และเจ้าของเหรียญทองแดงโอลิมปิค ปี 2012 ซึ่งทั้งคู่สามารถคว้าตั๋วเข้าร่วมการแข่งขัน เวิลด์ กรังด์ ปรีซ์ 2014 โดยอัตโนมัติเรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่ผ่านเข้ามาถึงรอบตัดเชือก
โดยในนัดนี้ ทีมชาติไทย เล่นได้อย่างคึกคักและยอดเยี่ยม ผิดกับ ญี่ปุ่น ที่ตีเสียเองไปหลายครั้ง ทำให้ทีมวอลเล่ย์บอลสาวไทยเอาชนะทีมวอลเล่ย์บอลสาวจากแดนซามูไรไปได้ 3-0 เซต (25-22, 25-18 และ 25-17) แบบสุดสะใจของกองเชียร์ที่เข้าไปชมจนล้นสนามชาติชายฮอลล์
ผลงานที่ผ่านมาของทีมชาติไทย ในรอบแรกกลุ่มเอ ไทย จบด้วยตำแหน่งรองแชมป์ โดยนัดแรก แพ้ คาซัคสถาน 1-3 เซต (24-26, 24-26, 25-17 และ 20-25) ส่วนนัดสอง เอาชนะ ออสเตรเลีย 3-0 เซต (25-16, 25-17, และ 25-14) และนัดสาม เอาชนะ มองโกเลีย 3-0 เซต (25-12, 25-9 และ 25-5) และในรอบสองแบบจัดอันดับ ทีมชาติไทย ยังจบด้วยตำแหน่งรองแชมป์อีกเช่นกัน โดยนัดแรก เอาชนะ ญี่ปุ่น 3-1 เซต (25-13, 25-23, 23-25 และ 30-28) และนัดสอง เอาชนะ เวียดนาม 3-0 (25-11, 25-15 และ 25-15)ส่วนในรอบก่อนรองชนะเลิศ ไทย เอาชนะ ไต้หวัน 3-0 เซต (25-13, 25-14 และ 25-23) และในรอบรองชนะเลิศ ไทย เอาชนะ จีน อย่างบีบหัวใจ 3-2 เซต (19-25, 25-19, 25-22, 21-25 และ 16-14)
ทั้งนี้ "กัปตันกิ๊ฟ" วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ ยังควงคู่กับ "ซาร่า" นุศรา ต้อมคำ รับรางวัลผู้เล่นทรงคุณค่าและรางวัลมือเซตยอดเยี่ยมของการแข่งขันรายการนี้ไปอีกด้วย
2013-09-24
ชื่อ : วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์
เชื้อชาติ : ไทย
วันเกิด : 6 มิถุนายน 2527
อายุ : 29 ปี
สถานที่เกิด : เมืองนครราชสีมา ประเทศไทย
ส่วนสูง : 174 ซม.
ต้นสังกัด : อิกติซาดชิ บากู
ตำแหน่ง : หัวเสา
กิ๊ฟ วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ กัปตันทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย เบอร์ 10 เกิดเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2527 ที่จังหวัดนครราชสีมา จบการศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนสุรนารีวิทยา และเข้าเรียนต่อปริญญาตรี-โท สาขาบริหารธุรกิจบัณฑิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
เธอเริ่มเล่นวอลเลย์บอลตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม ขยันและมุมานะฝึกซ้อม พัฒนาตัวเองจนกระทั่งก้าวไปติดทีมชาติไทยในปี 2540 ต่อมา เธอเป็นหนึ่งในนักวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยที่ได้เซ็นต์สัญญาไปเล่นวอลเลย์บอลอาชีพในต่างประเทศ กับสโมสร คอนยา เอเรกลี่ ในประเทศตุรกี อีกด้วย ส่วนในปัจจุบัน เธอเล่นวอลเลย์บอลอาชีพอยู่กับสโมสร อิกติซาดชิ บากู ในประเทศอาเซอร์ไบจาน โดยมีเพื่อนร่วมทีมชาติไทย อย่าง ปลื้มจิตร์ ถินขาว, อรอุมา สิทธิรักษ์ และ วรรณา บัวแก้ว เล่นอยู่ในทีมเดียวกันอีกด้วย
ต้องคอยส่งแรงใจเชียร์ ให้กัปตันกิ๊ฟคนเก่ง นำพาทีมวอลเล่ย์บอลหญิงทีมชาติไทยไปแข่งขันในกีฬาโอลิมปิคในครั้งหน้าให้ได้ หลังจากที่พลาดหวังไปร่วมแข่งขันโอลิมปิคที่ลอนดอน 2012
แบบฉิวเฉียด และสำหรับทุกรายการที่นักกีฬาวอลเล่ย์บอลหญิงทีมชาติไทยลงแข่งขันนั้น เชื่อว่า คนไทยทั้งประเทศก็คอยส่งกำลังใจไปให้ตลอดกันอยู่แล้ว
ผลงาน
- แชมป์ Asian Women's Volleyball Championship ครั้งที่15 เวียดนาม 2009
- แชมป์ซีเกมส์ ครั้งที่ 26 อินโดนีเซีย ปี 2011
- แชมป์ซีเกมส์ ครั้งที่ 24 ที่ ไทย ปี 2007
- แชมป์ซีเกมส์ ครั้งที่ 23 ที่ ฟิลิปปินส์ ปี 2005
- แชมป์ซีเกมส์ ครั้งที่ 22 ที เวียดนาม ปี 2003
- แชมป์ปริ๊นเซส คัพ แสงโสมวีเม่น วอลเลย์บอล อินวิเตชั่น ครั้งที่ 13
- อันดับ 3 Woman Senior Asian Volleyball Championship ปี 2007 (พ.ศ. 2550) ที่ประเทศไทย
(ได้สิทธิ์แข่ง World Cup2007 ที่ญี่ปุ่น และ Volleyball World Grand Prix 2008)
- เข้าร่วมการแข่งขัน Volleyball World Grand Prix
: พ.ศ. 2556 (อันดับ 13)
: พ.ศ. 2555 (อันดับ 4)
: พ.ศ. 2554 (อันดับ 6)
: พ.ศ. 2552 (อันดับ 8)
: พ.ศ. 2551 (อันดับ 11)
: พ.ศ. 2549 (อันดับ 11)
: พ.ศ. 2548 (อันดับ 12)
: พ.ศ. 2547 (อันดับ 10)
: พ.ศ. 2546 (อันดับ 9)
: พ.ศ. 2545 (อันดับ 8)
- เข้าร่วมการแข่งขัน Woman Senior Asian Volleyball Championship
: พ.ศ. 2556 (อันดับ 1)
: พ.ศ. 2554 (อันดับ 4)
: พ.ศ. 2552 (อันดับ 1)
: พ.ศ. 2550 (อันดับ 3)
: พ.ศ. 2548 (อันดับ 6)
: พ.ศ. 2546 (อันดับ 4)
: พ.ศ. 2544 (อันดับ 3)
- เข้าร่วมการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก (UNIVERSIADE)
: ครั้งที่ 24 พ.ศ. 2550 ที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย (อันดับ 4)
: ครั้งที่ 23 พ.ศ. 2548 ที่เมืองอิซเมียร์ (Izmir) ประเทศตุรกี (อันดับ 5)
: ครั้งที่ 22 พ.ศ. 2546 ที่เมืองแดกู (Daegu) ประเทศเกาหลีใต้ (อันดับ 6)
: ครั้งที่ 21 พ.ศ. 2544 ที่เมืองปักกิ่ง (Beijing) ประเทศจีน (อันดับ 3)
Updated by [G]